หลักสูตรโปรแกรม Transportation Management System (TMS)
TMS คืออะไร?
Transportation Management System (TMS) หรือ ระบบบริหารจัดการการขนส่ง คือ ระบบที่ช่วยในการบริหารจัดการงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งหรืองานในห่วงโซ่อุปทานโลจิสติกส์ทั้งหมดของธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือพร้อมลดต้นทุนได้สูงสุด ซึ่งเมื่อกล่าวถึง TMS เรามักจะพูดถึง ซอฟต์แวร์ที่ช่วยบริหารจัดการงานที่เกี่ยวกับการขนส่งได้อย่างครอบคลุมตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการซึ่งได้แก่ การรับคำสั่งการขนส่งและการตรวจสอบสถานะการขนส่ง การยืนยันการรับงาน การบริหารจัดการเส้นทางและเที่ยวรถ การติดตามสถานะการขนส่งไม่ว่าจะเป็น ยานพาหนะ อุปกรณ์ พนักงานและงานได้อย่างเรียลไทม์ การเก็บชำระเงินและบันทึกรายรับรายจ่ายรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการขนส่ง โดยระบบ TMS สามารถบริหารจัดการพัสดุต่างๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ได้ด้วยการใช้งานร่วมกับระบบอื่นๆ เช่น ระบบบาร์โค้ด (Barcode) ระบบ RFID หรือการใช้ร่วมกับอุปกรณ์มือถือ (Mobile Devices) และเครื่องพิมพ์พกพา (Mobile Printers)
หน้าที่และคุณสมบัติขั้นต้นของ TMS ควรมีอะไรบ้าง?
ระบบ TMS มีขอบเขตการทำงานที่ครอบคลุมทุกกระบวนการที่สำคัญของระบบการขนส่ง โดยเริ่มต้นจากการวางแผนจัดการการขนส่งสินค้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยระบบ TMS จะพิจารณาจากตัวแปรหลากหลายตัวแปร เช่น อาศัยข้อมูลจากระบบติดตามยานพาหนะอัตโนมัติด้วยระบบดาวเทียมและข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อคำนวนค้นหาเส้นทางการจัดส่งที่ประหยัดที่สุด (Routing) และใช้งานรถและพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (Utilization) เพื่อให้ธุรกิจสามารถจัดตารางการเดินรถและจัดส่งสินค้าขึ้นแต่ละคันรถ (Scheduleing & Loading) ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด ซึ่งหลังจาก TMS ได้กำหนดเส้นทางการขนส่งที่เป็นสิ่งสำคัญต่อการบริหารต้นทุนแล้ว ระบบ TMS จะช่วยในการบริหารจัดการแจกจ่ายตารางการเดินรถไปยังพนักงานแต่ละคนโดย TMS ช่วยในการยืนยันการรับส่งงานรวมถึงบันทึกข้อมูลและระบบการยืนยันการรับของ นอกจากนี้แล้ว TMS ยังช่วยในการติดตามและแจ้งเตือนสถานะงาน พนักงานและยานพาหนะเพื่อให้ทราบถึงปัญหาในการจัดส่งที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้าต่อลูกค้าได้
ผลประโยชน์ในการใช้ TMS
TMS เป็นระบบที่ช่วยยกระดับกระบวนการการขนส่งให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยประโยชน์ในการใช้งานซอฟต์แวร์ TMS นั้นมีอยู่หลายข้อด้วยกัน แต่เหตุผลหลักที่ธุรกิจมักจะเลือกใช้ TMS มาช่วยในการบริหารจัดการการขนส่งก็เนื่องจากความสามารถในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในงานขนส่ง ซึ่งไม่เพียงแต่ค่าใช้จ่ายจริงที่ธุรกิจต้องเสียไปเท่านั้นที่ธุรกิจจะลดได้ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับระยะทางการขนส่งอย่างน้ำมันหรืออะไหล่ แต่ธุรกิจยังสามารถลดต้นทุนอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการขนส่ง ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเที่ยวเปล่า ระยะเวลาในการขนถ่ายขึ้นพาหนะ เป็นต้นและนอกจากผลประโยชน์หลักข้างต้นที่ได้กล่าวไป TMS ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีก ดังนี้
TMS ช่วยให้ระบบการวางแผนและการติดตามการขนส่งเป็นระบบอัตโนมัติที่ได้รับการวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายๆ ปัจจัย ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดจากการทำงานแบบดั้งเดิมที่ใช้พนักงานในการจัดการการขนส่งได้
TMS ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในระบบการขนส่งซึ่งส่งผลต่อความพึงพอใจและความไว้วางใจของลูกค้าเนื่องจากความสามารถในการตรวจสอบสถานะการขนส่งได้แบบทันที
TMS ช่วยให้กระบวนการการขนส่งเป็นไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สามารถใช้งานทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
สามารถนำข้อมูลที่ได้จากการจัดเก็บในระบบ TMS มาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อต่อยอดในธุรกิจ เช่น สรุปรายรับรายจ่าย เส้นทางที่ใช้ประจำ